Tuesday, October 9, 2012

RESPONSIBILITY : รับผิด – รับชอบ
THINK BETWEEN THE LINES : คิดระหว่างบรรทัด





 1
               อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ร่างเล็ก ผมฟู หนวดเป็นปื้น หน้าตาใจบุญและอารมณ์ดีผู้นี้เป็นเจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษ (Special Theory of Relativity) ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีในรูปของสมการ E = mc2 อันลือลั่น สมการดังกล่าวส่งผลให้ไอสไตน์ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ จากสถาบันวิชาการของสวีเดน ในปี 1921
               นิตยสารไทม์ยกย่องเขาเป็น “บุคคลสำคัญแห่งศตวรรษ” และสำหรับฉัน เขาถือเป็นอาร์ตตัวพ่อคนหนึ่งของวงการวิทยาศาสตร์ นั่นคงเพราะกาลครั้งหนึ่งที่ไม่นานเกินค้นคว้า ฉันค้นพบคำกล่าวที่ไอน์สไตน์อธิบายถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพแบบง่าย ๆ ไว้ว่า



  
เมื่อท่านนั่งอยู่กับสาวสวยน่ารักๆคนหนึ่งในเวลา 1 ชั่วโมง

ท่านจะคิดว่าเวลาผ่านไปเพียง 1 นาที 

แต่ถ้าท่านนั่งลงบนเตาไฟร้อนๆเพียง 1 นาที
ท่านจะคิดว่าเป็น 1 ชั่วโมง
นั่นแหละคือสัมพันธภาพ 
 
Sit with a pretty girl for an hour,
and it seems like a minute.
…
Put your hand on a hot stove for a minute,
and it seems like an hour.
That's relativity.

2
               ปีเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศ “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.124” ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2448 ในอีกซีกโลกหนึ่ง ไอสไตน์ตีพิมพ์การค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ
ตามสมการ E = mc2 สมการที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์แทนค่าเพียงไม่ถึงห้าตัว พร้อมกับเปล่งถ้อยวจีมีดีกรีความ‘ขมขัน’ ที่ว่า

“If my theory of relativity is proven successful, Germany will claim me as a German and France will declare I am a citizen of the world. Should my theory prove untrue, France will say I am a German and Germany will declare I am a Jew.” 

“ถ้าทฤษฎีสัมพัทธภาพของผมได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง เยอรมันจะบอกว่าผมเป็นชาวเยอรมัน ส่วนฝรั่งเศสจะประกาศว่าผมเป็นประชากรของโลก แต่ถ้ามันเป็นทฤษฎีที่ผิด ฝรั่งเศสจะบอกว่าผมเป็นชาวเยอรมัน ส่วนเยอรมันจะประกาศว่าผมเป็นยิว”

               ขอย้ำอีกครั้งด้วยความรู้สึกส่วนตัวว่า วาทะเด็ดข้างต้นนี้อาจถือได้ว่าเป็นความ‘ขมขัน’เสียมากกว่าความ‘ขบขัน’ เหตุที่แฝงความกล้ำกลืนที่ซ่อนอยู่ลึกๆในใจของไอน์สไตน์ในฐานะที่เขาเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวยิว เขาใช้ชีวิตหลายสัญชาติไปกับการคิดค้นทฤษฎีต่างๆระหว่างการระหกระเหเร่ร่อนทั้งในยุโรปจนถึงอเมริกา โดยกำเนิดไอสไตน์เป็นชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เกิดที่เมืองอูล์ม ประเทศเยอรมนี ได้สัญชาติสวิสเมื่ออายุ 22 ปี สาเหตุเพราะเขามีเชื้อสายยิว จึงต้องอพยพไปอยู่อเมริกาหลังจากกองทัพนาซีของฮิตเลอร์ยึดอำนาจในเบอร์ลินเมื่อเดือนมกราคม ปี 1933 ต่อมาจึงได้สัญชาติอเมริกันในที่สุด
               ในปี 1936 ไอสไตน์ส่ง‘จดหมายจากมโนธรรม’ถึงประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูลเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อเตือนถึงการสร้างระเบิดอะตอมอันทรงอนุภาพทำลายล้างของนักฟิสิกส์ชาวเยอรมันในอีกไม่ช้านี้ เขาเขียนไว้ว่า “หากระเบิดชนิดนี้เพียงลูกเดียวเกิดการระเบิดขณะขนถ่ายที่ท่าเรือ มันก็จะทำลายท่าเรือจนสิ้นซาก รวมทั้งแถบปริมณฑลด้วย” ต่อมา ในปี 1941 หลังจากญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ในฮาวายได้ไม่นาน สหรัฐอเมริกาก็เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง 
               ไอน์สไตน์เพียงร่วมยื่นจดหมายเตือนครั้งนั้น แต่เขามิได้มีส่วนในการพัฒนาการสร้างระเบิดอะตอมแต่อย่างใด เมื่อมีการทดลองระเบิดอะตอมเป็นผลสำเร็จในเดือนกรกฎาคม ปี 1945 เพียงหนึ่งเดือนต่อมาก็มีการทิ้งระเบิดอะตอมที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิของญี่ปุ่น สร้างความเสียหายขั้นรุนแรงต่อประชาชนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่จำนวนมหาศาล ทั้งๆที่มีจุดประสงค์เพียงเพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ เมื่อไอน์สไตน์รู้ข่าวการระเบิด เขาถึงกับเอามือกุมศีรษะ และอุทานอย่างปวดร้าวว่า “โธ่! ไม่น่าเลย”
               สมการ E = mc2 (E คือพลังงาน, m คือมวล, c คือความเร็วของแสง) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามวลขนาดเล็ก สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานมหาศาลได้ สมการนี้นำไปสู่การสร้างระเบิดอะตอมซึ่งเป็นเรื่องที่ทิ่มแทงจิตสำนึกของไอน์สไตน์มาตลอด ยี่สิบปีสุดท้ายของชีวิต
3
               นับจากวันที่นักฟิสิกส์ท่านนี้ประกาศทฤษฎีดังกล่าว ในปี 1905 วันเวลาผันผ่านไปถึงหนึ่งศตวรรษกับอีกเจ็ดปี ทว่ากลับมีคนเพียงจำนวนน้อยนักที่เข้าใจทฤษฎีปฏิวัติโลกดังกล่าวอย่างถ่องแท้ ทั้งในด้านความรู้และด้านคุณธรรม
               หากลองเอาคำว่า ‘รับผิดชอบ’ มาลองแยกดูเล่นๆออกเป็นสองคำ คือ ‘รับผิด’ กับ ‘รับชอบ’ ความหมายของมันดูไม่เล่นเสียแล้ว เพราะเมื่อนำมาใคร่ครวญอย่างจริงจังกลับพบความจริงอันน่าสลดใจที่ว่า เราต่างพบเจอกับความไม่รับผิดแต่รับชอบของมวลมนุษยชาติบนโลกใบนี้เสียจนคุ้นชิน กระทั่งเราเองก็ยังตกอยู่ในวังวนโดยไม่รู้ตัว
               ทฤษฎีสัมพันธภาพอันลือลั่นที่เรายกย่องให้ไอสไตน์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ป้ายไวนิลผืนใหญ่ที่ประกาศว่าบุคลากรในสถาบันได้รับรางวัลระดับชาติ นักเรียนที่อยู่ในสถานที่อโคจรในชุดนักเรียนจะถูกประณามอย่างรุนแรงเพราะทำให้โรงเรียนเสียหาย ทางโรงเรียนอาจทำทัณฑ์บนและนักเรียนอาจถึงขั้นถูกไล่ออกเพราะนำความอับอายมาสู่โรงเรียน สุดท้ายเราไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา นักเรียนคนนั้นอาจกลายเป็นเด็กติดยา ทั้งถูกตราหน้าว่าเป็นขยะสังคมในที่สุด
               และสำหรับใครบางคนแล้ว ไอสไตน์อาจตกอยู่ในข้อหาฆาตกรระดับโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง น่า‘ขมขัน’ดีไหม

RESPONSIBILITY : รับผิด – รับชอบ
ENGLISH BETWEEN THE LINES : ภาษาอังกฤษระหว่างบรรทัด

“If my theory of relativity is proven successful, Germany will claim me as a German and France will declare I am a citizen of the world. 
Should my theory prove untrue, France will say I am a German 
and Germany will declare I am a Jew.”

1         
               ขออธิบายถึงการเรียกแทนสรรพนามในภาษาอังกฤษที่มักทำเอาผู้ใช้ชาวไทยอย่างเราเป็นงงอยู่เสมอ เนื่องจากโดยธรรมชาติของภาษาไทย ไม่ว่าสรรพนามใดสรรพนามหนึ่งจะอยู่ตรงไหนในประโยคก็ตามก็มักจะไม่เปลี่ยนรูป แต่สำหรับภาษาอังกฤษแล้ว การใช้สรรพนามจะต่างกันตามหน้าที่ของสรรพนามตัวนั้นในวลีหรือในประโยคค่ะ ขอแสดงให้เห็นภาพชัดๆดังนี้ค่ะ
              
เพิ่มเติมไปเลยค่ะ กับสรรพนามอื่นๆในภาษาอังกฤษตามหน้าที่ต่างๆ
แนะนำให้หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความกระจ่างและนำไปใช้อย่างถูกต้องบ่อยๆเพื่อความชำนาญค่ะ

2          
               Germany คือ ประเทศเยอรมัน และ German คือ ชาวเยอรมันนะคะ ในภาษาอังกฤษ การเปลี่ยนรูปแบบคำเกี่ยวกับประเทศและเชื้อชาติ (Country – Nationality) ดังกล่าวไม่ได้มีกฏตายตัว อย่างเช่นว่า

               Thailand = ประเทศไทย                       Thai = ชาวไทย  
               China = ประเทศจีน                             Chinese = ชาวจีน
               France = ประเทศฝรั่งเศส                     French = ชาวฝรั่งเศส
 
               อันนี้ต้องใช้ความคุ้นชินและพบเจอบริบททางภาษาอยู่บ่อยๆเท่านั้นค่ะ
         
               อยากแอบกระซิบบอกว่า แรงบันดาลใจในการเขียนคอลัมน์คิดระหว่างบรรทัดคราวนี้ เป็นควันหลงจากผลการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2012 ผู้ครองมงกุฏในปีนี้คือสาวงามจากเมืองกระบี่ที่เป็นทั้งรุ่นน้องจังหวัดและรุ่นน้องโรงเรียนเก่าสมัยมัธยม พอแอบภูมิใจอยู่ลึกๆว่าเป็นคนกระบี่เหมือนกัน (แม้จะมีความงามนอกองศาจากเขาก็ตาม) เลยรู้สึกว่า เอ...เราคงจะเป็นพวก‘รับชอบ’เหมือนกันนะเนี่ย


STORY BY : ตีกุฮ์  บือแน

No comments: