Ramadan Abroad : รอมฎอนในต่างแดน
THINK BETWEEN THE LINES : คิดระหว่างบรรทัด
THINK BETWEEN THE LINES : คิดระหว่างบรรทัด
ALLAH IS WITH THOSE WHO RESTRAIN THEMSELVES.
อัลลอฮ์นั้นทรงอยู่กับบรรดาผู้อดทน
อัลลอฮ์นั้นทรงอยู่กับบรรดาผู้อดทน
อีกครั้งของปีที่มุสลิมทุกคนจะได้ต้อนรับเดือนรอมฎอนด้วยการถือศีลอด ฉันไม่อยากให้เรียกบทความในคอลัมน์นี้ว่าเป็นการเขียนขึ้นเพื่อตามกระแสสังคม เนื่องจากการทำความดีมิใช่การตามกระแสแต่อย่างใด และในฐานะที่โดยส่วนตัวของฉันแล้วยังเป็นผู้ที่ยังอ่อนแอเรื่องศาสนาอยู่มาก จึงอยากถือเอาโอกาสนี้นำเสนอเรื่องราวของเดือนรอมฎอนในอีกมุมมองหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง
รอมฎอน คือเดือนที่ ๙ ตามปฏิทินอิสลาม มุสลิมทุกคนทั้งชายและหญิงไม่ว่ายากจนหรือร่ำรวย มียศศักดิ์สูงส่ง หรือเป็นคนธรรมดาสามัญต่างก็มีหน้าที่ต้องถือศีลอดเสมอกันตลอดทั้งเดือนอันประเสริฐนี้ ด้วยเหตุนี้เองหลายๆคนจึงเรียกเดือนนี้อย่างติดปากว่า ‘เดือนบวช’ มุสลิมจะต้องอดอาหาร น้ำ เครื่องดื่ม ตลอดถึงข้องดเว้นต่างๆ ทั้งกาย วาจา และใจ เพื่อฝึกตนเองให้มีความยำเกรงต่อพระเจ้าและรับรู้ความรู้สึกของคนยากจน และเดือนนี้ยังเป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนำให้กับมนุษย์ มุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่าการเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป็นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง กิจกรรมพิเศษที่มีกันเฉพาะในเดือนนี้ คือ การละหมาดตะรอเวียะฮ์ในยามค่ำคืน
2
เมื่อเดือนนี้ของปีที่แล้ว ฉันได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตต่างแดนผ่านโครงการแลกเปลี่ยน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่ถือว่ามีคนแทบทุกชาติทุกภาษามาอยู่รวมกัน เพียงชั่วระยะเวลาสองเดือนที่ได้ไปอยู่ที่นั่น ฉันเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง และแน่นอนว่าประสบการณ์ต่างๆ ที่ฉันได้รับที่นั่นทำให้โลกทัศน์ของฉันเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกมากโข
ก่อนเดินทาง ฉันตื่นเต้นไม่น้อย สาเหตุไม่ใช่เพราะการเดินทางข้ามทวีปผ่านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ฉันได้ใช้เวลาในช่วงเดือนรอมฎอนในอีกซีกโลกหนึ่ง คุณแม่ผู้น่ารักแพ็คอินทผลัมสองกล่องให้ฉันลงในกระเป๋าเดินทางเพื่อให้แน่ใจว่า ฉันจะมีอินทผลัมเพียงพอสำหรับการเปิดบวช คุณแม่ไม่ลืมซื้อขมิ้นชันแคปซูลให้ เพราะท่านรู้ว่าฉันมักมีปัญหาเรื่องกระเพาะอาหาร และขมิ้นชันถือเป็นสมุนไพรไทยชั้นดีที่ฉันทานแล้วได้ผล ไม่นับรวมยาประจำตัวอื่นๆ ที่โดยมากแล้วเป็นยาสมุนไพรบรรจุแคปซูล ฉันเคยบอกใครๆ หลายคนว่า ฉันทานยาฟ้าทะลายโจรเมื่อเป็นไข้ ทานขมิ้นชันเมื่อปวดท้อง และครั้งหนึ่งที่ฉันไปซื้อยาขมตราใบห่อที่ร้านขายยา เภสัชกรประจำร้านถึงกับทำหน้าเหวอ เพราะไม่คิดว่าจะมีเด็กรุ่นใหม่ยังทานยาสุดแสนโบราณอย่างนี้อยู่ (ฉันแอบคิดในใจว่า ถ้ามีเด็กวัยรุ่นไปซื้อยาที่ต้องรับประทานตามลูกศร เขาคงไม่ทำหน้าเหวอขนาดนี้ – กรุณาสงบนิ่งสิบวินาทีเพื่อไว้อาลัยแก่เยาวชนยุคยาคุมกำเนิด)
แอบใจเต้นตึกตัก ตอนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในอเมริกา เนื่องด้วยเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจกระเป๋าและสั่งให้ทิ้งอินทผลัมรวมถึงหยูกยาที่คุณแม่อุตส่าห์บ่นพลางจัดพลางมาให้ฉัน อัลฮัมดุลิ้ลละห์ที่อัลลอฮ์ทรงคุ้มครอง ฉันจึงผ่านด่านตรวจมาได้โดยสวัสดิภาพ
เพื่อนร่วมโครงการหลายคนที่มาเดินทางมาจากประเทศต่างๆ แทบทุกทวีปทั่วโลก จนถึงตอนนี้ทุกคนก็ยังคงคิดถึงกันและส่งข่าวคราวถึงกันผ่านทางสังคมออนไลน์อยู่เสมอ การมีเพื่อนหลากหลาย ทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆและแลกเปลี่ยนทัศนคติซึ่งกันและกัน ยังจำได้ไม่ลืมเมื่อเพื่อนหลายคนแปลกใจที่ฉันบอกว่าเป็นมุสลิมจากประเทศไทย “เอ๊ะ! ประเทศไทยมีมุสลิมด้วยเหรอ นึกว่ามีแต่ชาวพุทธ” ตอนฉันสอนเพื่อนใช้ตะเกียบ บางคนคิดว่าฉันมาจากจีนหรือเปล่า (หน้าตาก็ใช่ว่าจะหมวยตรงไหน แถมยังมีผิวสีช็อกโกแลตอีกต่างหาก) มีเพื่อนคนหนึ่ง เขาไม่เคยแม้แต่จะได้ยินเรื่องการถือศีลอดมาก่อน แล้วนึกสะระตะอยากลองถือศีลอดบ้าง ไม่ทันถึงสิบเอ็ดโมงเช้า เขาเดินโงกเงกโงนเงนมาสารภาพกับฉันด้วยใบหน้าเจื่อนๆว่า “ไม่ไหวแล้ว มึนไปหมด ขอไปหาอะไรทานก่อนนะ เธอทนได้ไงเนี่ย” ฉันแอบกระซิบเบาๆในใจเมื่อเขาคล้อยหลังไปแล้วว่า “ศรัทธาไง” (บทสนทนาข้างต้นมีฉบับออริจอนัลเป็นภาษาอังกฤษค่ะ คิดว่าเอามาเล่ากันเป็นภาษาไทยคงได้อรรถรสกว่า)
เดือนรอมฎอน เวลาสองทุ่มครึ่ง เวลาที่ใครหลายๆคนอาจคิดว่า ฉันคงละหมาดตะรอเวียะฮ์อยู่ แต่เปล่าเลย เวลานั้น คือเวลาที่พระอาทิตย์กลมโตเหมือนไข่เค็มเพิ่งจะลาลับขอบฟ้า หากพูดให้ดราม่าคงต้องบอกว่า ‘เวลาของเราไม่เท่ากัน’ กลางวันในฤดูร้อนของซีกโลกเหนือจะยาวนานกว่าปกติ เมื่อช่วงเวลาของการถือศีลอดถูกกำหนดด้วยการเคลื่อนที่ของพระอาทิตย์ นั่นหมายความว่า ฉันต้องถือศีลอดถึงเกือบสิบหกชั่วโมง ฉันมักพูดเล่นๆกับเพื่อนที่ไทยหลังจากเดินทางกลับมาแล้วว่า “หลังจากละศีลอด ละหมาดแล้ว ต้องทำการบ้านอีกกองพะเนิน บางครั้งกว่าจะเสร็จก็เกือบตีสอง ดื่มน้ำสักแก้วเพื่อแทนอาหารซะโฮร (อาหารที่ทานก่อนฟ้าสางในเดือนรอมฎอน) แล้วเข้านอน รวมๆแล้วเหมือนการละศีลอดพร้อมๆกับกินอาหารซะโฮรเลยทีเดียว อาจฟังดูโอ้โห! แม้แต่ตัวเองก็ไม่เชื่อเหมือนกันว่าจะผ่านมันมาได้ แต่ก็ผ่านมันมาแล้ว” ออกจะเสียดายนิดหน่อยก็ตรงที่โรคกระเพาะอาหารถามหา ไม่ได้ถือศีลอดอยู่หลายวัน ส่งผลให้ต้องงดไก่ทอด อาหารขยะทั้งหลายทั้งปวง มากินสลัดผักหรือทูน่าแทน แถมยังต้องทานขมิ้นชันบ่อยกว่าอินทผลัมเสียอีก
3
ท้องฟ้ายามอัสดง เมื่อพระอาทิตย์ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เซย์กู้ดบาย ถือเป็นท้องฟ้าที่สวยงามที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็น ท้องฟ้าถูกย้อมสีไล่เป็นระดับ ตั้งแต่ม่วง-น้ำเงิน-ส้ม-ทอง ฉันมักมองท้องฟ้าผ่านหน้าต่างห้องครัวของหอพักมหาวิทยาลัยยามที่ฉันทำอาหารเพื่อละศีอด ในสองสามสัปดาห์สุดท้ายก่อนเดินทางกลับมาตุภูมิ ฉันค้นพบทางขึ้นไปบนดาดฟ้าเพื่อชมพระอาทิตย์ตก ชี้ชวนเพื่อนๆต่างชาติไปชมด้วยกัน มุมมองพาโนรามาอย่างนี้ แม้จะโรแมนติกดีไม่เบา แต่ก็ทำเอาโรคคิดถึงบ้านกำเริบขึ้นมาตงิดๆได้ไม่หยอกเหมือนกัน
Ramadan Abroad : รอมฎอนในต่างแดน
ENGLISH BETWEEN THE LINES : ภาษาอังกฤษระหว่างบรรทัด
“Last year, I had spent the holy month of Ramadan in the States.
The sun set at about 8:30 p.m. I had to break fast at the time.”
- holy = อันศักสิทธิ์ เป็นคำคุณศัพท์ (adj.) คำหนึ่งที่สามารถวางขยายหน้าคำนามได้ เช่น the holy Quran = คัมภีร์อัลกุรอ่านอันศักสิทธิ์
- the States เป็นชื่อเรียกโดยย่อๆของ The United States of America หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม USA
- p.m. มีคนจำนวนไม่น้อยที่สับสนว่า ไอ้เจ้า a.m. กับ p.m. ต่างกันตรงไหนแล้ว จำง่ายๆเลยค่ะว่า
เราเอาเที่ยงวันมาคั่นกลางเจ้าสองตัวนี้
a.m. คือ ก่อนเที่ยงวัน
p.m. คือ หลังเที่ยงวัน
ดังนั้น 8:30 p.m. คือ สองทุ่มครึ่งนั่นเองค่ะ
- break fast กรุณาอย่าง "งง" ว่าพิมพ์ผิดหรือเปล่า ขออธิบายแยกก่อนนะคะว่า
break เป็นคำกริยา มีความหมายว่า หยุด พัก แตก
fast หากเป็นคำคุณศัพท์จะหมายถึง เร็ว แต่ในที่นี้ เป็นคำนามค่ะ หมายถึง การอดอาหาร
ดังนั้นในที่นี้ break fast จึงหมายถึง ละศีลอด นั่นเองค่ะ
- ไม่น่าแปลกใจเลยที่ ‘breakfast’ ที่หมายถึง ‘อาหารเช้า’ มีความหมายโดยนัยถึง การละหรือหยุดจากภาวะอดอาหารตอนกลางคืนเมื่อเรานอนหลับนั่นเองค่ะ
- นอกจาก the States แล้ว อเมริกายังมีสมญานามที่ว่า ‘melting pot’ ที่สื่อถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่มาจากหลากหลายชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอีกด้วยค่ะ
- Dates ไม่ได้หมายถึง การนัดหมาย การลงวันที่ หรือคู่เดทเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ผลอินทผลัมได้อีกด้วย
- ส่วนโรคคิดถึงบ้าน เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษเก๋ๆ ว่า ‘homesick’ ค่ะ
- เรื่องราวการผจญภัยในต่างแดนของ ‘ตีกุฮ์ บือแน’ ยังไม่จบเพียงแค่นี้หรอกนะคะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีโอกาสได้หยิบยกมาเล่าในครั้งต่อๆไปค่ะ
STORY BY : ตีกุฮ์ บือแน